วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขนมไทย ขนมมงคล

                                                                            
                                                                              1. ขนมทองหยิบ
                มีลักษณะคล้ายดอกไม้สีทอง ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ ให้ความหมายถึงการหยิบจับการงานสิ่งใด ก็เป็นเงินเป็นทอง เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย

                                                                             2. ขนมทองหยอด
                ใช้ประกอบพิธีมงคลต่างๆ หรือมอบเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญ แทนคำอวยพรให้ร่ำรวยประดุจให้ของขวัญเป็นทองคำ

                                                                           3. ขนมฝอยทอง
                ลักษณะเป็นเส้น ใช้ในงานมงคลสมรส ถือเคล็ดกันว่าห้ามตัดเส้นขนมให้สั้น อันหมายถึงการครองชีวิตคู่จะได้รักกันยืนยาว

                                                                               4. ขนมชั้น
                มีลักษณะเป็นแผ่นซ้อนกันเก้าชั้น ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าเลขเก้าเป็นเลขสิริมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้าเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

                                                                             5. ขนมทองเอก
                มีลักษณะสง่างามโดดเด่น ใช้มอบเป็นของขวัญในการฉลองการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เป็นเหมือนคำอวยพรให้เป็นที่หนึ่ง

                                                                          6. ขนมเม็ดขนุน
                มีรูปร่างคล้ายเม็ดขนุนและมีความเชื่อกันว่าชื่อเม็ดขนุนเป็นสิริมงคล ช่วยให้มีคนสนับสนุนหน้าที่การงานและกิจการต่างๆ ที่ได้กระทำอยู่

                                                                          7. ขนมจ่ามงกุฎ
                มีขั้นตอนการทำที่ซับซ้อน จึงนิยมประกอบพิธีการที่มีความสำคัญจริงๆ ให้ความหมายถึงการมีเกียรติยศสูงส่ง หรืออวยพรให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

                                                                           8. ขนมถ้วยฟู
                หมายถึงความเจริญเฟื่องฟู ใช้ประกอบในงานพิธีมงคลต่างๆ ทุกงาน

                                                                        9. ขนมเสน่ห์จันทร์
                เชื่อกันว่า คำว่าเสน่ห์จันทร์เป็นคำที่มีสิริมงคล ทำให้มีเสน่ห์คนรักคนหลงดั่งความหอมหวลของผลจันทร์ ใช้ประกอบพิธีงานมงคลสมรส



                ขนมไทยโบราณทั้งเก้าอย่างนี้มีความสำคัญต่อประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก เด็กๆ ควรที่จะรู้จักเพื่อที่จะอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป


แหล่งที่มา :  http://www.anyapedia.com/2013/08/blog-post_5.html

ขนมไทยโบราณที่น่าจดจำ

             ขนมไทยอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน ดั้งเดิมจะมีเพียงแป้ง น้ำตาล กะทิเป็นส่วนผสมเท่านั้น เมื่อมีการรับอิทธิพลจากขนมต่างชาติ ก็ทำให้ขนมไทยมีไข่เป็นส่วนผสมด้วย ปัจจุบันขนมไทยที่มีมาแต่โบราณค่อยๆเลือนหายไปจนเด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักแล้ว เรามาทำความรู้จักกับขนมไทยที่น่าจดจำกันค่ะ


              1.  ขนมน้ำดอกไม้
               ขนมไทยโบราณที่มีทั้งความหอมและหวาน สีสันน่าทาน ปัจจุบันที่มีขายอยู่ ก็ยากจะหาที่เป็นสูตรโบราณได้ 






                2.  ขนมโพรงแสม

                เป็นขนมที่ใช้ในพิธีแต่งงาน ให้ความหมายแทนเสาบ้านเสาเรือน เพื่อให้คู่บ่าวสาวอยู่กันยั่งยืนและร่ำรวย ลักษณะคล้ายทองม้วนแต่มีรสชาติหวานของน้ำตาลมากกว่า




                3.  ขนมพระพาย

                ทำจากแป้งข้าวเหนียวหุ้มไส้ถั่วกวน ให้ความหมายถึงความรักที่เหนียวแน่นในพิธีแต่งงานโบราณซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นแล้ว





                4.  ขนมหันตรา

                ขนมโบราณที่ใช้ในงานหมั้น แสดงถึงการจองหญิงสาว มีลักษณะเป็นตาข่าย หุ้มไส้ที่ทำจากถั่วเขียวกวน





                5.  ขนมสัมปันนี

                เป็นขนมที่สมัยโบราณนิยมใช้ในพิธีแต่งงาน ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสหร้อมๆ กับขนมตระกูลทอง มีรูปร่างหลายแบบแล้วแต่คนทำ






                6.  ขนมบุหลันดั้นเมฆ

                เป็นขนมชาววังที่คนไทยไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เนื่องจากไม่มีขายทั่วไป มีส่วนผสมของน้ำดอกอัญชันทำให้มีสีสันที่สวยงาม





               7.  ขนมพันตอง
                มีสองส่วนคือ ส่วนของไส้ขนมทำจากมะพร้าวกับน้ำตาลปี๊บปั้นเป็นก้อนและส่วนของหัวกะทิ เวลาทานต้องทานคู่กันจะได้ความอร่อยกลมกล่อม










                8.  ขนมเกสรชมพู่

                ขนมไทยโบราณที่ทำจากมะพร้าวขูด มีรสชาติหวานเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำ ทำให้สูตรดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไป




                9.  ขนมโคกะทิ
                หรืออีกชื่อหนึ่งคือโคหัวล้าน ขนมไทยโบราณที่ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ไส้ถั่วหรือมะพร้าว ราดด้วยน้ำกะทิใบเตย ได้รสชาติหวานมันหอมหวน









               10.  ขนมเรไร

                มีสีสันน่ารับประทาน อีกทั้งยังมีกลิ่นหอม ขั้นตอนการทำจะต้องประณีต คนโบราณจึงตั้งชื่อลูกสาวว่าเรไร เพื่อให้สวยงามและประณีตเหมือนขนมเรไร





                11.  ขนมสามเกลอ
                เป็นขนมเสี่ยงทายในพิธีแต่งงาน ขณะที่ทอดถ้าขนมยังติดกันทั้งสามลูกหมายความว่า คู่บ่าวสาวที่แต่งงานกันจะอยู่ด้วยกันดีตลอดจนมีลูก







               12.  ขนมตะลุ่ม
                เป็นขนมไทยโบราณมาก ขนมมีสองส่วนคือ ส่วนของหน้าขนมที่มีสีเหลือง และส่วนของฐานขนมที่มีสีขาวที่ทำจากแป้งหลายชนิดผสมกันจึงไม่นิยมทำกันทั่วไปนัก



               13.  ขนมหม้อตาล

                เมื่อใช้ในพิธีแต่งงานเรียกว่าขนมหม้อเงินหม้อทอง ขั้นตอนการทำต้องใช้ความพิถีพิถัน จึงหาผู้สืบทอดได้ยากในปัจจุบัน











แหล่งที่มา : http://www.anyapedia.com/2013/08/blog-post_5.html

10 ขนมไทยโบราณที่หากินยากสุดๆ


                1.  ขนมพันตอง

                ขนมพันตอง แบ่งเป็น 2 ส่วน แยกเป็น 2 ห่อ ห่อแรก คือส่วนผสมของไส้ ประกอบด้วยมะพร้าวกับน้ำตาลปี๊บ แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน อีกห่อประกอบด้วย หัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า เกลือ น้ำตาล แล้วตักใส่ห่อ เพื่อความอร่อยยิ่งขึ้นควรจะรับประทานพร้อมกัน เพราะตัวแป้งและตัวไส้จะอร่อยกลมกล่อมอย่างลงตัว

                2.  ขนมลา

                ขนมลา เป็นขนมหวานพื้นบ้านของทางภาคใต้ ของประเทศไทย ซึ่งทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นขนมสำคัญหนึ่งในห้าชนิดที่ใช้สำหรับจัดเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญของจังหวัดในภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลาโดยอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ขนมลาปรุงขึ้นเพื่อเป็นเสมือนแพรพรรณเสื้อผ้า

                3.  ขนมเกสรชมพู่

                ขนมไทยโบราณ เมื่อได้มองครั้งแรกอาจจะคิดว่าขนมชนิดนี้คือ ข้าวเหนียวเเก้วแต่ถ้าพิศมองให้ดีจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะมีลักษณะแข็งกระด้างของข้าวเหนียว ส่วนเกสรชมพู่จะดูนุ่มนวล อ่อนโยน ที่ทำจากมะพร้าวขูดขาว ผัดกับน้ำและน้ำตาลทราย ใส่วุ้นกวนให้เข้ากันใส่สีชมพูแก่ แล้วตักใส่ถ้วย 

                4.  ขนมโพรงเเสม

                ขนมชนิดนี้ใช้ในพิธีแต่งงาน โดยแทนเสาบ้านเสาเรือน เพื่อให้คู่บ่าวสาวอยู่กันยั่งยืนและร่ำรวย ลักษณะคล้ายๆขนมทองม้วน แต่ขนมชนิดนี้จะมีความแตกต่างอยู่ตรงที่มีน้ำตาลเคลือบพันร้อยอยู่ที่ตัวขนม เมื่อตัวขนมได้ถูกบดขยี้กับฟันและลิ้นที่สัมผัสรส จะให้ความรู้สึกกรุบกรอบน่ากัดกิน ผสมกับความหวานของน้ำตาลที่เคลือบขนมอย่างลงตัวไม่ที่ไม่หวานมากนัก ก็ยิ่งทำให้ขนมชนิดนี้เหมาะสำหรับการกินเล่น

                5.  ขนมตูโบ้

                ต้มบวดรวมมิตร อาหารหวานท้องถิ่นภูเก็ต ทำจากถั่วแดงเม็ดเล็ก มันเทศ เผือก และแป้งมันสำปะหลัง  ต้มรวมกันในน้ำกะทิเติมน้ำตาลและเกลือพอให้มีรสหวานนำและเค็มปะแล่ม จะทานร้อนๆหรือเติมน้ำแข็งก็ได้

                6.  ขนมเทียนเเก้ว

                ขนมเทียนแก้ว หรือ ขนมนมสาว เปรียบเสมือนแสงสว่าง ลักษณะที่สวยถูกต้อง ต้องปลายแหลม และฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางได้โดยไม่เสียรูปทรง ทำจากถั่วเขียวเลาะเปลือกนึ่งสุก กวนกับกะทิและน้ำตาลทราย  อบด้วยควันเทียน ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ นำแป้งถั่วเขียว หรือแป้งซ่าหริ่ม กวนกับน้ำตาลทราย และน้ำลอยดอกมะลิ

                7.  ขนมสามเกลอ

                เป็นขนมเสี่ยงทายในพิธีแต่งงาน ถ้าขนมยังติดกันทั้ง 3 ลูกในขณะที่ทอด หมายความว่า คู่บ่าวสาวที่จะแต่งงานจะอยู่ด้วยกันดี ตลอดจนมีลูกด้วยกัน แต่ติดกันอยู่เพียง 2 ลูก หมายความว่า มีลูกยากหรือไม่มี ถ้าแยกหรือหลุดออกทั้ง 3 ลูก หมายความว่า อยู่ด้วยกันไม่ยืดยาว

                8.  ขนมตะลุ่ม

                ตะลุ่ม มีสองส่วน คือส่วนตัวขนม ทำแป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม แป้งมันสำปะหลัง น้ำปูนใส และหางกะทิ นำไปนึ่งจนสุก ส่วนของตัวหน้า ได้แก่  หัวกะทิ ไข่ และน้ำตาล ใส่แป้งข้าวเจ้าเล็กน้อย แล้วเทลงบนตัวที่สุกแล้วนำไปนึ่ง เวลาเสิร์ฟตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดพอดีคำหรือลักษณะตามชอบ


                9.  ขนมหม้อตาล

                เป็นขนมโบราณ ที่ใช้ในพิธีแต่งงาน เรียกว่า หม้อเงิน หม้อทองตัวถ้วยขนม ผสมแป้งสาลี น้ำเย็น ไข่แดง กรุแป้งในพิมพ์หม้อตาล อบให้สุก ไส้ ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำเคี่ยวให้ข้น ตักใส่ถ้วย หยดสีตามต้องการ หยอดลงในพิมพ์ ให้น้ำตาลแห้ง  

                10.  ขนมบุหลันดั้นเมฆ

                ลักษณะของขนมจะคล้ายขนมน้ำดอกไม้ เป็นขนมชาววังคิดประดิษฐ์ขึ้น ให้มีสีสันอุปมาอุปไมยเลียนแบบเพลงไทยบุหลันลอยเลื่อนซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มี 2 ส่วน คือ ส่วนตัวขนม ทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำดอกอัญชัน น้ำตาลทราย หยอดลงบนถ้วยตะไล เมื่อนำไปนึ่งตรงกลางจะบุ๋มลงไป ส่วนตัวหน้าขนม ประกอบด้วย ไข่ กะทิ น้ำตาล มะพร้าว และนำไปนึ่งต่อจนสุก เมื่อรับประทานจะให้ความรู้สึกถึงความหอมหวานของน้ำดอกอัญชันกับกลิ่นน้ำตาลมะพร้าว



แหล่งที่มี :  http://www.dek-d.com/board/view/3178102/

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความหมายดีดีของขนมไทย


           ขนมไทย เป็นขนมหวาน มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในสมัยก่อนขนมไทยจะทำเฉพาะเวลามีงานสำคัญเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในงานเทศกาล งานประเพณี งานทางศาสนา หรือการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่ที่เห็นมีขนมหลากหลายกินทุกวัน หลังสำรับคาวหวานหรือกินเป็นของว่าง ก็ล้วนแต่คิดประดิดประดอยขึ้นภายหลังแล้วทั้งสิ้น รวมถึงขนมจากต่างชาติที่เข้ามาโดยผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง ก็ถูกดัดแปลง ให้มีรูปรส ลักษณะเป็นแบบไทยๆจนบางทีนึกกันไปว่าเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิมก็มี แต่แท้ที่จริงแล้วขนมไทยแท้ๆนั้น จะมีส่วนประกอบเพียงสามอย่าง คือ แป้ง น้ำตาล มะพร้าว โดยการทำขนมไทยนี้เป็นการบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของคนไทย ในเรื่องความอดทนใจเย็น ละเอียดลออ และช่างสังเกต ทั้งยังได้แฝงความหมายอันลึกซึ้งไว้ในชื่อของขนมไทยแต่ละชนิดด้วย เช่น



          ขนมชั้น หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง
          ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญ เฟื่องฟู รุ่งเรือง
          ขนมเม็ดขนุน หมายถึง ความเกื้อหนุนจุนเจือ ทำกิจการใดก็จะมีผู้คอยสนับสนุน
          ขนมทองเอก หมายถึง ความเป็นหนึ่ง
          ขนมเสน่ห์จันทร์ หมายถึง ความมีเสน่ห์ดุจจันทร์วันเพ็ญ
       ขนมทองหยิบ ทองหยอด หมายถึง ความร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทอง
           ขนมจ่ามงกุฎ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า เป็นหัวหน้า การเลื่อนยศ


           ขนมตาล หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่นของชีวิต
            ขนมลูกชุบ หมายถึง ความน่ารักน่าเอ็นดู มักใช้เมื่อผู้ใหญ่มอบขนมให้กับผู้น้อย
              ข้าวเหนียวแก้ว หมายถึง ความดีประเสริฐ ดุจดังแก้ว เป็นต้น
              ข้าวเหนียวแดง  กาละแม  หมายถึง การเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมิตรไมตรี
                 ขนมฝอยทอง  หมายถึง รักกันที่ยืนยาวและครองคู่อยู่ด้วยกันตลอดไป
               ขนมเทียนหรือขนมนมสาว  หมายถึงความสว่างไสว  ความรุ่งโรจน์ของชีวิต

               ขนมพอง  ขนมลา  ขนมไข่ปลา  ขนมดีซำ  เป็นขนมที่ใช้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ  ทำกันในงานเทศกาลสารทของชาวใต้  ซึ่งมีความหมายที่ต่างกันไป  ดังนี้  ขนมพองแทนพาหนะ  ขนมลาแทนเครื่องนุ่งห่ม  ขนมไข่ปลาแทนเครื่องประดับ  ขนมดีซำใช้ต่างแหวน  กำไล  เป็นต้น
                ข้าวต้มมัด  เล่ากันว่าเกิดจากชาวเมืองไปคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้า  แล้วจะทำบุญตักบาตรด้วยข้าวต้มมัดเพราะเป้นของสะดวกและกินง่าย  ส่วนข้าวต้มลูกโยน  บ้างก็ว่าชาวบ้านที่ไปเบียดเสียดต้องการจะตักบาตรแต่เข้าไปไม่ถึง  องค์พระพุทธเจ้าจึงต้องใช้วิธีโยนข้าวต้มนี้เอา
                ขนมโพรงแสม  เป็นขนมแต่งงานที่เก่าแก่และมีมานานชนิดหนึ่ง  โบราณท่านเปรียบขนมนี้ว่า  เสมือนเสาบ้านที่คูบ่าวสาวจะอยู่กันได้ยั่งยืนตลอดไป
                ขนมทองพลุ ความหมายก็คือ ทอง หมายถึงของมีค่า พลุ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เมื่อนำมารวมกันคือความเจริญ มีชื่อเสียงโด่งดัง เหมือนพลุ




แหล่งที่มา  http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-4/no16-20-34/kanomthai/sec17p05.htm
                  https://www.eduzones.com/knowledge-2-1-1855.html
                  https://sites.google.com/site/may54100145120/assignments