วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความหมายดีดีของขนมไทย


           ขนมไทย เป็นขนมหวาน มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ในสมัยก่อนขนมไทยจะทำเฉพาะเวลามีงานสำคัญเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในงานเทศกาล งานประเพณี งานทางศาสนา หรือการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่ที่เห็นมีขนมหลากหลายกินทุกวัน หลังสำรับคาวหวานหรือกินเป็นของว่าง ก็ล้วนแต่คิดประดิดประดอยขึ้นภายหลังแล้วทั้งสิ้น รวมถึงขนมจากต่างชาติที่เข้ามาโดยผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง ก็ถูกดัดแปลง ให้มีรูปรส ลักษณะเป็นแบบไทยๆจนบางทีนึกกันไปว่าเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิมก็มี แต่แท้ที่จริงแล้วขนมไทยแท้ๆนั้น จะมีส่วนประกอบเพียงสามอย่าง คือ แป้ง น้ำตาล มะพร้าว โดยการทำขนมไทยนี้เป็นการบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของคนไทย ในเรื่องความอดทนใจเย็น ละเอียดลออ และช่างสังเกต ทั้งยังได้แฝงความหมายอันลึกซึ้งไว้ในชื่อของขนมไทยแต่ละชนิดด้วย เช่น



          ขนมชั้น หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง
          ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญ เฟื่องฟู รุ่งเรือง
          ขนมเม็ดขนุน หมายถึง ความเกื้อหนุนจุนเจือ ทำกิจการใดก็จะมีผู้คอยสนับสนุน
          ขนมทองเอก หมายถึง ความเป็นหนึ่ง
          ขนมเสน่ห์จันทร์ หมายถึง ความมีเสน่ห์ดุจจันทร์วันเพ็ญ
       ขนมทองหยิบ ทองหยอด หมายถึง ความร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทอง
           ขนมจ่ามงกุฎ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า เป็นหัวหน้า การเลื่อนยศ


           ขนมตาล หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่นของชีวิต
            ขนมลูกชุบ หมายถึง ความน่ารักน่าเอ็นดู มักใช้เมื่อผู้ใหญ่มอบขนมให้กับผู้น้อย
              ข้าวเหนียวแก้ว หมายถึง ความดีประเสริฐ ดุจดังแก้ว เป็นต้น
              ข้าวเหนียวแดง  กาละแม  หมายถึง การเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมิตรไมตรี
                 ขนมฝอยทอง  หมายถึง รักกันที่ยืนยาวและครองคู่อยู่ด้วยกันตลอดไป
               ขนมเทียนหรือขนมนมสาว  หมายถึงความสว่างไสว  ความรุ่งโรจน์ของชีวิต

               ขนมพอง  ขนมลา  ขนมไข่ปลา  ขนมดีซำ  เป็นขนมที่ใช้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ  ทำกันในงานเทศกาลสารทของชาวใต้  ซึ่งมีความหมายที่ต่างกันไป  ดังนี้  ขนมพองแทนพาหนะ  ขนมลาแทนเครื่องนุ่งห่ม  ขนมไข่ปลาแทนเครื่องประดับ  ขนมดีซำใช้ต่างแหวน  กำไล  เป็นต้น
                ข้าวต้มมัด  เล่ากันว่าเกิดจากชาวเมืองไปคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้า  แล้วจะทำบุญตักบาตรด้วยข้าวต้มมัดเพราะเป้นของสะดวกและกินง่าย  ส่วนข้าวต้มลูกโยน  บ้างก็ว่าชาวบ้านที่ไปเบียดเสียดต้องการจะตักบาตรแต่เข้าไปไม่ถึง  องค์พระพุทธเจ้าจึงต้องใช้วิธีโยนข้าวต้มนี้เอา
                ขนมโพรงแสม  เป็นขนมแต่งงานที่เก่าแก่และมีมานานชนิดหนึ่ง  โบราณท่านเปรียบขนมนี้ว่า  เสมือนเสาบ้านที่คูบ่าวสาวจะอยู่กันได้ยั่งยืนตลอดไป
                ขนมทองพลุ ความหมายก็คือ ทอง หมายถึงของมีค่า พลุ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เมื่อนำมารวมกันคือความเจริญ มีชื่อเสียงโด่งดัง เหมือนพลุ




แหล่งที่มา  http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-4/no16-20-34/kanomthai/sec17p05.htm
                  https://www.eduzones.com/knowledge-2-1-1855.html
                  https://sites.google.com/site/may54100145120/assignments

ไม่มีความคิดเห็น: